คนไทยกังวลเศรษฐกิจ-ค่าครองชีพทะยาน 'ประเทศถดถอย' สูงสุดในอาเซียน

26 กรกฎาคม 2566
คนไทยกังวลเศรษฐกิจ-ค่าครองชีพทะยาน 'ประเทศถดถอย' สูงสุดในอาเซียน

ผ่านพ้นวิกฤติโควิด แต่คนไทยและทั้งโลก ยังเจอโจทย์ใหญ่ ที่ท้าทายการใช้ชีวิต การจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ การเมือง ค่าครองชีพสูง กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนวิตกกังวลอนาคต โดยเฉพาะ 6 เดือนข้างหน้า หรือครึ่งปีหลัง 2566

“อิปซอสส์” ผู้ดำเนินการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคครบวงจร ได้ศึกษา “ความกังวลสูงสุดของประชากรโลก และไทย” หรือ What Worries the World – What worries Thailand ใน 30 ประเทศทั่วโลก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย สิงคโปร์ ฯ ส่วนไทย การสำรวจตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ผ่านกลุ่มประชากรตัวอย่างจำนวน 6,000 คน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ครอบคลุมประชากรศาสตร์ทั่วไทย ผลของรายงาน ประกอบด้วยข้อมูล 3 ส่วน สำคัญ ได้เแก่ ความกังวลด้านสังคม เศรษฐกิจ และการปรับใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน(ESG) ในภาคธุรกิจ

อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด เปิดเผยว่า ผลการวิจัยผู้บริโภคระดับโลก ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา “เงินเฟ้อ” เป็นตัวแปรใหญ่สุดที่ผู้คนวิตกกังวล โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ ที่เผชิญอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กลับมามองที่ประเทศไทย ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ความกังวลใจ 5 อันดับแรก เป็นดังนี้ 1.คนไทย 40% กังวลมากสุดคือด้านการเงิน การจับจ่ายใช้สอย การเมือง และปัญหาการคอร์รัปชั่น ซึ่งถือเป็นปมปัญหาที่อยู่ในใจมาหลายปีต่อเนื่องกัน ตามด้วย 39% มีความกังวลเกี่ยวกับความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสังคม นอกจากนี้ 29% ยังกังวลภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะมีนโยบายดูแลเงินเฟ้อไม่ให้เกินระดับ 4% ก็ตาม

อันดับ 4 คนไทย 26% กังวลอัตราการว่างงานอีกครั้ง ปัจจัยสำคัญคือการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่อาจเข้มามาแทนที่ในตำแหน่งงานที่ตัวเองทำอยู่ และอันดับ 5 คนไทย 25% กังวลใจเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง หากจะลดทอน หรือคลายความวิตกประเด็นนี้ได้ การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเข้มข้นกับผู้กระทำผิดมากขึ้น

“ภาพใหญ่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คนกังวลเรื่องเดิมๆคือความเท่าเทียม ความยากจน แต่ปี 2565 กังวลเรื่องเงินเฟ้อมากถึง 40% และมองว่าปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้เงินเฟ้อ และค่าครองชีพสูงขึ้น”

ทั้งนี้ เจาะลึก 2 มิติ ที่คนไทยกังวลใจอย่างยิ่ง คือ “ภาวะเศรษฐกิจ” และ “สังคม” โดย ด้านเศรษฐกิจถือว่าเกี่ยวข้องกับรายได้ ปากท้อง ชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคนโดยตรง และจากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้คนไทย 57% ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศห้วงเวลาปัจจุบัน “เลวร้าย” ยิ่งกว่านั้น 72% ยังมองว่าประเทศกำลังอยู่ในภาวะ “ถดถอย” ด้วย สูงสุดในอาเซียน และสูงกว่าความกังวลของค่าเฉลี่ยประชากรโลกซึ่งมีเพียง 49% ที่มองการถดถอยเกิดขึ้น

หากเจาะลึกประชากรโลก ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยมากสุด อันดับ 1 คือประชาชนเกาหลีใต้ คิดเป็น 79% อันดับ 2 ประชากรญี่ปุ่น คิดเป็น 63% อันดับ 3 ประชากรไทย คิดเป็น 72% อันดับ 4 ประชากรมาเลเซีย คิดเป็น 62% และอันดับ 5 ประชากรอินเดีย คิดเป็น 44%

“ตอนนี้คนไทยมองเศรษฐกิจไม่ดี เงินฝืดเคืองไปหมด เกิดภาวะ Recession ทำให้ผู้บริโภคต้องระวังการใช้จ่าย ไม่บริโภคเกินตัว ซื้อสินค้าที่จำเป็นและแบรนด์ที่คุ้นเคย แบรนด์ใหม่เสี่ยงไม่ตรงปก ซื้อแล้วเสียเงินฟรี และปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าด้วย”

สำหรับประเทศไทย เหตุแห่งความกังวลใจ เกิดจาก 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ “เงินเฟ้อ” ซึ่งผู้บริโภคคาดการณ์ครึ่งปีหลัง 2566 จะเห็นแนวโน้มการพุ่งขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนชีวิตเพิ่ม รวมถึงเศรษฐกิจไทยพึ่งการท่องเที่ยวมาก แต่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนยังไม่กลับเข้ามา หรือไปเที่ยวประเทศอื่นแทนไทย

“ตอนสงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่ม เงินเฟ้อยังไม่มาก กระทั่งผ่านไปครึ่งปี เงินเฟ้อพุ่งแตะระดับ 6% ปลายปีเริ่มอ่อนตัว ส่วนหนึ่งเพราะไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาล้นหลาม ทำให้คนมีเงินจับจ่ายใช้สอย ลดผลกระทบเงินเฟ้อได้”

นอกจากนี้ ประเด็นความวิตกกังวลเรื่อง “ค่าครองชีพที่สูงขึ้น” ยังเป็นเงาตามตัว เมื่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้มอง 6 เดือนข้างหน้า ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น โดยคนไทย 65% เชื่อว่าค่าสาธารณูปโภค ทั้งแก๊ส ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ฯ จะเพิ่มขึ้น เทียบค่าเฉลี่ยความกังวลของประชากรโลกอยู่ที่ 71%

ตามด้วย 65% ของคนไทยมองราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน ฯ จะเพิ่มขึ้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยความกังวลของประชากรโลกอยู่ที่ 60% และคนไทย 64% คาดว่าค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารจะเพิ่มขึ้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยความกังวลของประชากรโลกอยู่ที่ 67% เนื่องจากบางประเทศ เช่น สหรัฐ เผชิญเงินเฟ้อสูงกว่า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายเพื่อสังสรรค์ เช่น ดูหนัง ร้านกาแฟ ร้านอาหาร รวมถึงค่าสมาชิกต่างๆ ทั้งรับชมวิดีโอสตรีมมิงหรือโอทีที ค่าสมาชิกการออกกำลังกาย เป็นต้น

“6 เดือนข้างหน้า คนไทยมองว่าการใช้ชีวิต และการใช้จ่ายจะมีความยากลำบากมากขึ้น เพราะแนวโน้วราคาสินค้าอาจปรับขึ้นอีกรอบ และนอกจากจะจ่ายยค่าอาหารที่แพงขึ้น สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคลเป็นอีกหมวดที่คนไทยต้องจ่ายแพงขึ้นด้วย โดยความกังวลเรื่องเหล่านี้ เกิดจากความไม่แน่นอน และมองว่ารัฐจะไม่มีมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า เมื่อเจอกับเงินเฟ้อสูง ทำให้เงินในกระเป๋าลดลง ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐขยายเวลาตรึงราคาพลังงานออกไป เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพด้วย”

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คนไทยจะประคับประคองชีวิตอย่างไรให้อยู่รอดในอนาคตอันใกล้ อุษณา ระบุว่า ผลวิจัยพบ 25% มองการจัดการด้านการเงินตะกุกตะกัก หามาได้ใช้หมดไปแต่ละวัน แต่กระนั้น ยังมี “มุมมองบวก”​ จากคนไทย 64% เชื่อมั่นว่าภายใน 1 ปีข้างหน้าสถานการณ์ทุกอย่างจะ “ดีขึ้น”

“ยังมีคนไทยที่มองโลกในแง่ดีว่าชีวิตในอีก 1 ปีข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีความหวังใหม่ มีรัฐบาลใหม่ อีกด้านเห็นว่าคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว”

อย่างไรก็ตาม การมอง 1 ปีข้างหน้าจะดี ยังเป็นการสำรวจก่อนปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองจะเกิดขึ้นด้วย ปัจจัยดังกล่าวจึงมีผลต่องานวิจัย

สำหรับการเมืองที่ยังอยู่ระหว่างจัดตั้งรัฐบาล ผู้บริโภคมองว่าไม่ควรปล่อยให้มีความล่าช้า โดยเฉพาะการรอให้ สว.หมดวาระ ซึ่งใช้เวลาอีก 10 เดือน แต่ต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว เพื่อไม่ให้กระทบการเบิกจ่ายงบประมาณ การแก้ไขปัญหาเศรษกิจ ปากท้องประชาชน

“คนไทย 81% ยังมองเศรษฐกิจโลกถดถอย 79% หากรัฐไม่ช่วยตรึงราคาค่าน้ำค่าไฟจะกระทบชีวิตตัวเองแน่นอน รวมถึง 73%มองดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตเพิ่ม”


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.